วันเสาร์ที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2554

ราชกาลที่3


พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
        รัชกาลที่ 3  (พ.ศ. 2367-2394)
 
                         พระนามเดิมว่า “ทับ” ประสูติเมื่อวันที่ 31 มีนาคม พุทธศักราช 2330 ทรงเป็นพระราชโอรสองค์ใหญ่ของรัชกาลที่ 2 ในเจ้าจอมมารดาเรียม (ต่อมาได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระศรีสุลาลัย) เมื่อพระพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ขึ้นครองราชย์ ทรงได้รับสถาปนาเป็นกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์


                    ทรงกำกับราชการกรมท่า กรมพระคลังมหาสมบัติ กรมพระตำรวจว่าความฎีกาและรับราชการต่างๆ ต่างพระเนตรพระกรรณ แทบทุกด้าน  เมื่อรัชกาลที่ 2 เสด็จสวรรคต มิได้ตรัสมอบราชสมบัติแก่ผู้ใด แต่ภายหลังขุนนางและพระราชวงศ์ต่างมีความเห็นว่า กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ซึ่งขณะนั้นพระชนมายุ 37 พรรษา ทรงรอบรู้ในกิจการบ้านเมืองดี จึงพร้อมใจกันอัญเชิญขึ้นครองราชย์ เป็นรัชกาลที่ 3
                    พระองค์ทางปกครองประเทศด้วยพระปรีชาสามารถ ทรงเป็นพระมหากษัตริย์อีกพระองค์หนึ่งที่เลื่อมใสในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง ได้ทรงสร้างพระพุทธรูปมากมาย ทรงสร้างวัดใหม่ 3 วัด บูรณะปฏิสังขรณ์อีก 35 วัด โดยเฉพาะวัดพระแก้ว ทรงโปรดฯให้มีการบูรณะซ่อมใหญ่เป็นกรณีพิเศษ เพราะมีสิ่งก่อสร้างและตกแต่งที่แบบบางไม่คงทน เริ่มชำรุดทรุมโทรม เช่น เปลี่ยนเครื่องบนพระอุโบสถ ภาพเขียนผนังทั้งซ้ายขวา แก้ไขข้อเขียนใหม่ทั้งหมด เสริมชั้น เบญจาหนุนบุษบกทองคำที่ประดิษฐานพระแก้วมรกตให้สูงขึ้น รื้อหอเทพบิดร สร้างวิหารยอดแทน ทรงสร้างพระพุทธรูปยืนทรงเครื่อง อย่างพระจักรพรรดิ หุ้มทองคำ 2 องค์ ประดิษฐานไว้ข้างหน้าพระแก้วมรกต
                    โปรดฯให้จารึกสรรพตำราไว้ในวัดโพธิ์ และทรงสร้างพระไตรปิฎก และส่งเสริมการเรียนพระปริยัติธรรม ในสมัยของพระองค์นี้ ได้มีคณะสงฆ์ธรรมยุตินิกาย ถือกำเนิดขึ้น
                    ในรัชกาลของพระองค์ วรรณกรรมเริ่มขยายจากราชสำนักไปสู่ประชาชนมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะพระองค์เองทรงมีพระปรีชาสามารถเป็นเอกตั้งแต่เมื่อครั้งยังทรงดำรพระยศเป็นกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์แล้ว นอกจากนั้นยังมีกวีเด่นที่ปรากฏในรัชกาลนี้หลายคน เช่น สมเด็จกรมพระยาเดชาดิศร ผู้นิพนธ์คำโคลงโลกนิติ กรมหลวงวงศาธิราชสนิท ทรงแต่งโคลงจินดามณี นายมี ผู้แต่งนิราศเดือน และนิราศพระแท่นดงรัง เป็นต้น
                    กวีชั้นครู ซึ่งมีผลงานวรรณกรรมอันทรงคุณค่ายิ่ง ทรงนิพนธ์งานต่อเนื่องมาแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย จนถึงรัชสมัยของพระองค์ ได้แก่ สมเด็จกรมพระปรมนุชิตชิโนรส เช่น ลิลิตตะเลงพ่าย พระปฐมสมโพธิ ร่ายยาวมหาชาติ 11 กัณฑ์ กฤษณาสอนน้อง สมุทโฆษคำฉันท์ (ตอนปลาย) แหล่บายศรี นางลอย และอื่นๆ อีกหลายเล่ม
                    พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดฯให้จารึกสรรพตำรา ซึ่งเป็นบทพระนิพนธ์ของสมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรส เช่น ตำราฉันท์วรรณพฤติ-มาตราพฤติไว้ในวัดโพธิ์ เพื่อให้ผู้สนใจคัดลอกเผยแพร่ต่อๆ ไป
                ทรงสร้างวัดรวม 3 วัด คือ
                    1.วัดบวรนิเวศวิหาร ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นเจ้าอาวาสอยู่ ก่อนเสด็จเสวยราชย์เป็นรัชกาลต่อมา วัดนี้เป็นวัดสำคัญอีกวัดหนึ่ง ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอีกหลายพระองค์ เสด็จประทับจำพรรษาระหว่างทรงผนวช ณ วัดนี้ ได้แก่ รัชกาลที่ 6 รัชกาลที่ 7 และรัชกาลปัจจุบัน รวมทั้งสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชในรัชกาลปัจจุบัน
                    2. วัดเทพธิดาราม โปรดฯให้สร้างพระราชทาน พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นอัปสรสุดาทพ ซึ่งกล่าวกันว่าทรงพระสิริโฉมงดงามยิ่ง จึงพระราชทานนามตามพระราชธิดา สร้างตามแบบพระราชนิยม คือ พระอุโบสถ พระวิหารและศาลาการเปรียญ ไม่มีช่อฟ้าใบระกา ที่แปลกตา คือ ปรางค์ ทิศที่มุมกำแพงแก้วพระอุโบสถทั้งสี่มุม ที่วัดนี้มีกุฏิหลังหนึ่ง เรียกกันว่า “บ้านกวี” ที่สำคัญคือ “สุนทรภู่” ครั้งบวชเป็นพระเคยจำพรรษาอยู่ พร้อมกับเป็นแหล่งกำเนิดผลงานกวีอันยิ่งใหญ่ นับเป็นมรดกของชาติอันมีค่ากระทั่งปัจจุบัน
                    3.วัดราชนัดดาราม ทรงสร้างพระราชทานพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าโสมนัสวัฒนาวดี และโปรดฯให้สร้าง “โลหะปราสาท” แทนพระเจดีย์ซึ่งนับเป็นโลหะปราสาทแห่งที่ 3 ในโลก นอกเหนือจากปรากฏในประเทศอินเดียและลังกา
                พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงค้าสำเภาระหว่างประเทศมาตั้งแต่รัชกาลก่อน และยังค้าตลอดรัชกาลของพระองค์ท่าน ทำให้มีเงินคงคลังมากถึง 4 หมื่นชั่ง
                ในรัชกาลนี้ อังกฤษได้ส่งเฮนรี่ เบอร์นี เป็นทูตเข้ามาเจริญพระราชไมตรี มีการลงนามในทางการค้าและการทูต ซึ่งอำนวยประโยชน์แก่ประเทศมากมายหลายประการ นอกจากนั้น สหรัฐอเมริกาซึ่งส่งมิชชันนารีเข้ามาเผยแพร่ศาสนาในแผ่นดินสยามด้วย สิ่งที่ตามมาจะเกิดประโยชน์ทางด้านการแพทย์สมัยใหม่ และการพิมพ์เป็นครั้งแรกในประเทศไทย
                พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 2 เดือนเมษายน พุทธศักราช 2394 ก่อนเสด็จสวรรคต พระองค์ได้รับสั่งให้แบ่งเงินจากท้องพระคลังให้พระเจ้าแผ่นดินรัชกาลต่อมา นำไปใช้ซ่อมบำรุงวัดวาอารามที่ชำรุดทรุมโทรม ซึ่งเงินจำนวนนี้บางส่วน รัชกาลที่ 5 ได้นำมาบูรณะปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดารามคราวฉลองพระนครครบ 100 ปี เมื่อ พ.ศ.2425 และบางส่วนรัชกาลที่ 5 ก็ได้นำมาใช้ไถ่บ้านเมืองให้อยู่รอดปลอดภัย โดยยอมเสียเป็นค่าปรับกรณีพิพากระหว่างประเทศ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น