วันอังคารที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2554

เทศกาล ไหว้พระจันทร์


ในค่ำคืนของวันนี้เป็นวันสำคัญวันหนึ่งของคนจีน เรื่องราวของความศรัทธาในดวงจันทร์ จนทำให้เกิดเทศกาล "ไหว้พระจันทร์"

ทุกวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 ของปฏิทินจีน ชาวจีนจะทำพิธีไหว้พระจันทร์ เป็นการไหว้ครั้งที่ 6 ของปี เรียกการไหว้ครั้งนี้ว่า "ตงชิวโจ่ย" ซึ่งตรงกับช่วงกลางฤดูใบไม้ร่วง

วันนี้เป็นวันที่พระจันทร์ส่องแสงงดงามที่สุดและเต็มดวงสวยที่สุด ในค่ำคืนนี้ผู้คนแหงนมองดวงจันทร์ที่สุกสว่าง ท้องฟ้าปลอดโปร่งไร้เมฆฝนอากาศสดชื่น ทำให้อดคิดถึงการอยู่พร้อมหน้ากับครอบครัวไม่ได้ คนจีนสมัยโบราณนิยมใช้จันทร์เสี้ยว-จันทร์เต็มดวง มาบรรยายถึงความทุกข์ พลัดพราก-พร้อมหน้า เมื่อใดที่จันทร์เต็มดวง ให้ความรู้สึกถึงการอยู่ร่วมกัน คนที่จากบ้านเกิดไปไกลอดคิดถึงครอบครัวและบ้านเกิดที่จากมาไม่ได้ โดยจะเห็นได้จากบทกวีต่าง ๆ ของนักกวีเอกของจีน เช่น หลี่ไป๋ ตู้ผู่ ที่มักใช้ดวงจันทร์บรรยายถึงความอ้างว้างและคิดถึงบ้านเกิด

กำเนิดของการไหว้พระจันทร์มีตำนานและเรื่องเล่าที่เกี่ยวพันอยู่หลายเรื่อง ด้วยกัน รองศาสตราจารย์แสงอรุณ กนกพงศ์ชัย คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ กล่าวให้ฟังว่า คติการ ไหว้พระจันทร์ เริ่มต้นอย่างเป็นเรื่องเป็นราวในสมัยราชวงศ์ถัง ตามตำนานเล่าว่า มีนักพรตเต๋าชื่อ เย่ฝ่าซ่าน ได้ประกอบพิธีร่ายเวทมนตร์คาถาในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 ให้องค์จักรพรรดิถัง เสียนจงเสด็จไปท่องพระจันทร์ในค่ำคืนนั้น และได้พบเทพธิดาบนดวงจันทร์กำลังร่ายรำอยู่อย่างงดงาม พระองค์ทรงเพลิดเพลินและเกษมสำราญเป็นอย่างยิ่ง กระทั่งเมื่อตื่นพระบรรทมทรงมีรับสั่งให้นางสนมแต่งตัวและร่ายรำเลียนแบบ เทพธิดาในฝัน ตั้งแต่นั้นมา ทุกวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 8 พระองค์จะรับสั่งให้จัดเครื่องเซ่นไหว้พระจันทร์ และทอดพระเนตรความงามของพระจันทร์ไปพร้อมกับการร่ายรำของนางสนม จากนั้นเป็นต้นมา ชาวเมืองจึงถือเอาวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 8 เป็น วันไหว้พระจันทร์ และยังมีการชมจันทร์บนพื้นที่สูงหรือล่องเรือชมจันทร์ รวมทั้งดื่มสุราฉลองกันอย่างครึกครื้น

แต่สำหรับ ชาวจีนแต้จิ๋ว มีคติแบบหนึ่ง เล่ากันว่า เมื่อ รัชสมัยราชวงศ์หยวน (ค.ศ. 1206-1368) ชาวมองโกลได้ยึดครองประเทศจีนแล้วได้กระทำทารุณกับชาวจีนฮั่นไว้มาก พวกมองโกลได้ออกกฎว่าคนจีน 3 ครอบครัวต้องเลี้ยงดูคนมองโกลอย่างดี 1 คน ทั้งนี้เพื่อจับตาดูความเคลื่อนไหวไปในตัว มีการยึดอาวุธทั้งหมดอนุญาตให้มีได้เพียงมีดหั่นผักเพียงเล่มเดียว โดยให้ใช้ร่วมกัน 3 ครอบครัว ชาวจีนมีความโกรธแค้นพวกมองโกล จึงวางแผนก่อการขับไล่ทหารมองโกลโดยการทำขนมไหว้พระจันทร์ที่จงใจออกแบบให้ เป็นขนมเปี๊ยะก้อนใหญ่ไส้หนาเป็นพิเศษ เพื่อใช้เป็นที่ซ่อนเอกสารในการติดต่อแล้วให้มีธรรมเนียมแลกขนมเปี๊ยะกัน ระหว่างญาติมิตร เป็นการตบตาพวกมองโกล โดยภายในสารระบุเวลากำจัดคนมองโกลว่าเที่ยงคืนของวันเพ็ญเดือน 8 ซึ่งเป็นคืนที่มีงานไหว้พระจันทร์ พอเที่ยงคืนมีการตีเกราะเคาะไม้ส่งสัญญาณแก่กันว่าได้เวลาแล้ว ทุกครอบครัวพร้อมใจกันขับไล่ทหารมองโกลจนสำเร็จสมประสงค์ เมื่อได้เอกราชคืนมา ชาวจีนจึงยึดถือเอาวันเพ็ญเดือน 8 เป็นวันไหว้พระจันทร์สืบต่อมา เพื่อรำลึกถึงการกู้ชาติจากพวกมองโกล

"ในเทศกาลนี้สมัยก่อนมีคำพูดว่า ผู้ชายไม่ไหว้พระจันทร์ เพราะพระจันทร์ถือว่าเป็นหยินซึ่งเป็นธาตุของผู้หญิง ผู้ชายถือเป็นหยาง ดังนั้น จึงให้แต่ผู้หญิงเป็นคนไหว้เท่านั้น แต่ในยุคหลังผู้ชายก็ไหว้พระจันทร์ได้เช่นกันเพียงแต่ผู้หญิงเป็นหลักในการ จัดการเตรียมการไหว้"

พิธีไหว้พระจันทร์ จะเริ่มต้นตอนหัวค่ำซึ่งดวงจันทร์เริ่มปรากฏบนท้องฟ้า ถ้าดินฟ้าอากาศเป็นปกติพระจันทร์เริ่มปรากฏตอนหัวค่ำผู้คนจะดีอกดีใจ แต่ถ้าอากาศแปรปรวนท้องฟ้ามืดครึ้มและไม่มีทีท่าจะปลอดโปร่ง ความหวังที่จะได้แลเห็นพระจันทร์เต็มดวงค่อนข้างจะเลือนราง ผู้คนก็ออกจะหงุดหงิด แต่ไม่ว่าสภาพอากาศจะเป็นอย่างไรหรือแม้แต่ฝนเริ่มตกพรำ ๆ พิธีไหว้พระจันทร์จะต้องดำเนินต่อไป

สถานที่ไหว้พระจันทร์อาจเป็นลานบ้านหรือดาดฟ้า แต่ถ้าไม่สะดวกอาจไหว้หน้าบ้านก็ได้ โดยตั้งโต๊ะขนาดเท่าโต๊ะทำงาน มีซุ้มที่ทำจากต้นอ้อยเพื่อความสวยงาม มีธูปเทียน กระดาษเงินกระดาษทองที่พับเป็น เงินตราจีน โคมไฟ และสิ่งของเซ่นไหว้ซึ่งได้แก่ ผลไม้ต่าง ๆ อาทิ ส้มโอ แอปเปิ้ล สาลี่ ทับทิม กล้วย ส้ม และผลไม้ท้องถิ่นอื่น ๆ รวมทั้ง ขนมชนิดต่าง ๆ ที่ขาดไม่ได้ คือ ขนมไหว้พระจันทร์ สำหรับขนมไหว้พระจันทร์ของชาวจีนแต้จิ๋ว ได้แก่ ขนมโก๋สีขาวรูปทรงกลมขนาดเท่าปากชามก๋วยเตี๋ยวหรืออาจมีขนาดเล็กลงไปก็ได้ อีกทั้งเครื่องสำอาง แป้ง จะใช้ยี่ห้ออะไรก็แล้วแต่ผู้ไหว้ พิธีดำเนินไปจนถึงตอนดึกประมาณ 4-5 ทุ่ม เป็นอันเสร็จพิธี เมื่อเสร็จพิธีทุกคนในครอบครัวจะตั้งวงแบ่งกันกินขนมไหว้พระจันทร์ ซึ่งถือว่าเป็นสิริมงคล อยู่ดีมีสุขกันพร้อมหน้า

การไหว้เพื่อการบูชาดวงจันทร์จากตำนานในแต่ละเรื่องจะเห็นว่า คนจีนให้ความสำคัญกับธรรมชาติ คนจีนจะเห็นว่าตัวเขาเองเล็กมากถ้าเทียบกับธรรมชาติ ฉะนั้นวิธีกลมกลืนด้วยการทำพิธีกรรมอย่างนี้เป็นวิธีที่ดีมาก ทำให้คนสมัยก่อนใช้ชีวิตกลมกลืนกับธรรมชาติ ไม่บังคับธรรมชาติ ไม่ฝืนธรรมชาติ แต่มีความเคารพในสิ่งที่เป็นธรรมชาติ จึงทำให้เห็นว่าธรรมชาติมีความยิ่งใหญ่และมีความลึกลับจึงสร้างเป็นพิธีกรรม ขึ้น

การไหว้พระจันทร์จึงเป็นการแสดงความสามัคคีของคนในครอบครัว โดยเฉพาะขนมเปี๊ยะจะเป็นรูปทรงกลม ลักษณะที่กลมทางจีนเชื่อว่าเป็นการแสดงความสามัคคีกัน ความอยู่พร้อมหน้าพร้อมตากันของคนภายในครอบครัว อีกทั้งยังเชื่อว่าดวงจันทร์ซึ่งมีลักษณะกลม เป็นสัญลักษณ์ของความสวยงามและเป็นสื่อกลางของการคิดถึงซึ่งกันและกัน เมื่อสมาชิกในครอบครัวไม่สามารถกลับมาบ้านได้ก็ให้แหงนมองดวงจันทร์ส่งความ รู้สึกที่ดีส่งความคิดถึงไปสู่ครอบครัวและคนที่รัก ดังนั้นชาวจีนส่วนใหญ่มักจะชื่นชอบค่ำคืนที่ดวงจันทร์เต็มดวงอันหมายถึงการ กลับสู่ครอบครัว แต่ก็มีบางคนที่ชื่นชอบดวงจันทร์เป็นเสี้ยวเพื่อจะได้มีวันที่ดวงจันทร์เต็ม ดวงให้ชื่นชม

"ไม่ว่าจะเป็นเทศกาลใดล้วนมีความน่าสนใจทั้งนั้น อย่าง เทศกาลไหว้พระจันทร์ เป็น เทศกาลที่ควรปฏิบัติสืบต่อไป แต่ต้องปฏิบัติอย่างมีสติ ตรงที่ว่าไม่ควรบริโภคขนมไหว้พระจันทร์ตามคำโฆษณามากนัก สิ่งสำคัญ คือ การที่ผู้ใหญ่น่าจะได้พูดคุยกับลูกหลานถึงตำนานของการไหว้พระจันทร์ว่ามี ความเป็นมาอย่างไร ไหว้เพื่ออะไร ทำไมคนสมัยก่อนถึงได้นับถือธรรมชาติ เราจะได้รักษาสมดุลธรรมชาติ มีวิถีในการดำเนินชีวิตที่เมตตาธรรมชาติมากกว่านี้ ไม่เบียดเบียน ไม่ใช้วิถีชีวิตแบบทุนนิยมจัดการกับธรรมชาติ ทั้งที่เป็นป่าเขาและทะเล อยากให้ยึดถือตรงส่วนนี้ให้มาก"

ไหว้พระจันทร์...จะเป็นอีกวันหนึ่งที่คนในครอบครัวจะได้อยู่ร่วมชมจันทร์พร้อมหน้ากัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น